เพลี้ย ชื่อแมลงขนาดเล็กหลายชนิดในหลายวงศ์ เป็นแมลงศัตรูพืช มีปากชนิดเจาะดูดคล้ายเข็มติดอยู่ที่หัวส่วนที่ใกล้กับอก หรือชนิดเขี่ยดูดติดอยู่ตรงส่วนปลายหัว ส่วนใหญ่ไม่มีปีกพวกที่มีปีกจะมีเนื้อปีกบางและอ่อนเหมือนกันทั้งแผ่นหรือเป็นแผ่นบางยาวและแคมมาก มีขนปกคลุม มีหลายประเภท เรื่อกชื่อตามรูปร่างของลำตัวหรือนิสัย
พวกที่อยู่ในวงศ์ Cercopidae มีนิสัยชอบกระโดดมากกว่าบิน เรียกว่า เพลี้ยกระโดด บริเวณข้อต่อของขาหลังเกือบถึงปลายขาจะมีหนามเป็นพู่ หรือกระจุก ตัวอ่อนมักซ่อนอยู่ในฟองน้ำลาย คล้ายฟองสบู่
พวกที่อยู่ในวงศ์ Aphidiae ลำตัวอ่อนนุ่มและบอบบาง เรียกว่า เพลี้ยอ่อน หัวเรียวเล็ก ก้นโตและมนที่ปลายหาง ด้านท้ายของลำตัวมีท่อยื่นออกมาคล้ายหางสองท่อ
พวกที่อยู่วงศ์ Coccidae สามารถกลั่นสารสีขาวเหมือนแป้งออกมาคลุมลำตัว เรียกว่า เพลี้ยแป้ง และที่กลั่นสารลักษณะคล้ายครั่งออกมาคลุมลำตัวคล้ายฝาหอย เรียกว่าเพลี้ยหอย
เพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟ มีหลายชนิดแต่ละชนิดจะมีการเข้าทำลายพืชที่แตกต่างกัน เนื่องจากการทำลายลักษณะปากดูด ทั้งกินยอดอ่อน เจาะดูดกินดอกมะม่วง ดอกหลุดร่วงไม่ติดผล เจาะดูดกินผล ผลไม่ได้รูปทรง ไม่สวยช่วงหน้าฝน เพลี้ยไฟมีการเข้าทำลายมะม่วงเยอะมาก เนื่องจากเป็นฤดูที่มะม่วงออกช่อดอก ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของเพลี้ยไฟ ลักษณะของเพลี้ยไฟ รูปร่างลักษณะและชีวประวัติเพลี้ยไฟเป็นแมลงขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร ตัวอ่อนมีสีเหลือง ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลปนเหลือง เคลื่อนไหวรวดเร็ว เพศเมียจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บริเวณใบอ่อน ดอก ก้านช่อดอกและผลอ่อน ระยะไข่ 4-7 วัน ตัวอ่อนวัยที่หนึ่งมีสีขาวใส ตารวมสีแดง ส่วนตัวอ่อนระยะที่สองสีเหลืองเข้ม
พืชอาหาร เพลี้ยไฟเข้าทำลายพืชหลายชนิด ทั้งพืชผักผลไม้ ไม้ดอก เช่น พริก แตง ฟัก มะเขือ มะม่วง มังคุด ส้ม มะนาวกล้วยไม้ กุหลาบ โดยทำลายส่วนต่างๆ ของพืช คือ ยอดอ่อน ตาใบ ดอก และผล
การเข้าทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืชบริเวณเยื้ออ่อน ถ้าเพลี้ยไฟระบาดในระยะดอกทำให้ดอกแห้งและร่วง ซึ่งเป็นผลทำให้การพัฒนาเป็นผลลดลง
การแพร่ระบาด พบมากในฤดูร้อนและอากาศแห้งแล้ง โดยเฉพาะในระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม
เพลี้ยอ่อน
เพลี้ยอ่อน เป็นแมลงศัตรูพืชที่พบได้ทั่วโลก มีการระบาดอย่างรวดเร็วและจะพบน้อยในฤดูฝน เพลี้ยอ่อนจะพบเห็นอยู่ทั่วไปตลอดปี การกระจายตัวของเพลี้ยอ่อนเป็นแบบรวมกลุ่มปกติจะไม่เกิดการระบาด เพราะธรรมชาติคอยควบคุม เช่น ปริมาณน้ำฝน ศัตรูธรรมชาติ แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงหรือในฤดูแล้ง อากาศร้อนจะเกิดการระบาดของเพลี้ยอ่อน พบการระบาดได้กับพืชเกือบทุกชนิด ทั้งในไม้ผล ไม้ยืนต้น ผัก และพืชไร่ เมื่อเข้าทำลาย จะทำให้ต้นชะงักการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ให้ผลผลิตลดลงคุณภาพผลผลิตต่ำหรือไม่ได้ผลผลิตเลย
พืชอาหาร ไม้ดอก เช่น ดาวเรือง กุหลาบ เบญจมาศ ดอกรัก ชบา ยี่โถ บานชื่น บัว
พืชไร่ เช่น ข้าวโพด ถั่วต่างๆ พืชผัก เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือ แตงต่างๆ
การเข้าทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบ ยอดอ่อนและดอก ทำให้หงิกงอเป็นคลื่น หากมีการระบาดมากๆ จะทำให้ไม้ดอกเหี่ยวและอ่อนแอ ไม่ออกดอก บริเวณที่มีเพลี้ยอ่อนระบาดมักจะพบเห็นมดอาศัยกินน้ำหวานที่เพลี้ยอ่อนถ่ายออกมา จะทำให้เกิดราดำ
การแพร่ระบาด พบเห็นอยู่ทั่วไปตลอดปี การกระจายตัวของเพลี้ยอ่อนเป็นแบบรวมกลุ่ม ปกติจะไม่เกิดการระบาด เพราะธรรมชาติคอยควบคุม เช่น ปริมาณน้ำฝน ศัตรูธรรมชาติ แต่ถ้าฝนทิ้งช่วงหรือในฤดูแล้ง อากาศร้อนจะเกิดการระบาดของเพลี้ยอ่อน
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล
เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เป็นแมลงปากดูด ตัวเต็มวัยจะมีสีน้ำตาลปนดำ แบ่งออกเป็นชนิดปีกสั้นและชนิดปีกยาว อพยพเคลื่อนย้ายด้วยการอาศัยกระแสลมช่วย ลักษณะการเข้าทำลายทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยสามารถเข้าทำลายด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นเหนือผิวน้ำ ทำให้ต้นข้าวมีอาการใบเหลืองแห้งตายเป็นหย่อมๆ โดยส่วนมากจะพบในระยะแตกกอ ออกรวง นอกจากนี้ยังเป็นพาหะของโรคใบหงิกในข้าวอีกด้วย
พืชอาหาร นาข้าว
การเข้าทำลาย ทั้วตัวอ่อนและตัวเต็มวัยจะดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณโคนต้นข้าวเหนือระดับน้ำ ข้าวแสดงอาการใบเหลืองแห้ง คล้ายถูกน้ำร้อนลวก ซึ่งเรียกว่า “อาการไหม้เป็นหย่อม” (Hopper burn) ถ้ารุนแรงมาก ต้นข้าวจะแห้งตายในขณะเดียวกันจะคอยขับถ่ายมูลน้ำหวาน (Honey dew) ออกมาเป็นสาเหตุให้เกิดโรคราดำ
การแพร่ระบาด ระบาดทั่วไปในแถบที่มีการปลูกข้าว การระบาดอาจเกิดขึ้นได้ทั้งข้าวนาปีและนาปรัง
เพลี้ยแป้ง
เพลี้ยแป้ง เป็นแมลงอยู่ในอันดับเฮมิพเทอร่า (Hemiptera) วงศ์ Pseudococcidae เพลี้ยแป้งมีลักษณะตัวสีขาว มีสารสีขาวคล้ายแป้งติดอยู่ตามตัว
พืชอาหาร เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ส้ม มะนาว มะเขือ แตง พริก มะม่วง
การเข้าทำลาย เพลี้ยแป้งดูดกินน้ำเลี้ยงตามสัดส่วนต่างๆ เช่นใบยอดและตา ในส่วนของต้นที่ยังอ่อนอยู่ ยอดที่ถูกทำลายจะงอหงิกเป็นพุ่ม ลำต้นจะบิดเบี้ยวมีช่วงข้อถี่ผลผลิตลดลง หากมีอาการรุนแรงยอดจะแห้งตาย
การแพร่ระบาด เพลี้ยแป้งจะระบาดรุนแรงในฤดูแล้งมากกว่าในฤดูฝนโดยเฉพาะฝนทิ้งช่วงเป็นเวลานาน
เพลี้ยจักจั่น
เพลี้ยจักจั่น ที่มีการระบาดอยู่จะมีด้วยกันอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ตัวที่มีลำตัวมีสีเทาปนดำหรือตัวน้ำตาลปนเทา ส่วนหัวโตและป้าน ลำตัวเรียวแหลลมมาทางด้านหาง ทำให้เห็นส่วนท้องเรียวเล็ก มองดูด้านบนเหมือนรูปลิ่ม
พืชอาหาร ข้าว มะม่วง ถั่วต่างๆ
การเข้าทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ช่อดอก ก้านดอกและยอดอ่อน ทำให้แห้งและดอกร่วง ติดผลน้อยหรือไม่ติดเลย ต้นแคระแกรน ขอบใบไหม้ห่อขึ้นดานบนอาจทำให้พืชตายทั้งแปลงได้
การแพร่ระบาด ระบาดมากเมื่อฝนทิ้งช่วงเวลานานๆ อากาศแห้งแล้ง
การป้องกัน กำจัดเพลี้ย
- หมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบเจอไข่หรือตัวเพลี้ยให้เก็บไปเผาทิ้ง
- ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อตัดวงจรชีวิตของเพลี้ย
- ไม่ควรปลูกพืชติดต่อกัน ควรมีการพักดิน เพื่อทำลายไข่หรือตัวเพลี้ยที่อยู่อาศัยในดิน
- เลือกใช้สารเคมีที่เหมาะสม โดยไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อตัวห้ำและตัวเบียน