โรคแอนแทรคโนส…ในพริก

โรคแอนแทรคโนสหรือกุ้งแห้งในพริก หนึ่งในโรคที่ติดอันดับสำหรับเกษตรกรที่ปลูกพริก ผลพริกที่ถูกเชื้อโรคแอนแทรคโนสเข้าทำลาย จะเกิดจุดฉ่ำน้ำเล็กๆ ต่อมาแผลจะขยายขนาดออกไปในลักษณะเป็นวงรีหรือกลม เกิดเป็นวงซ้อนๆ กันเป็นชั้นๆ บริเวณกลางแผลมีส่วนขยายพันธุ์ของเชื้อสีดำหรือสีส้มอ่อน ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อ ถ้าปล่อยไว้ผลพริกจะแห้งไปทั้งผล ถ้าเชื้อสาเหตุทำลายตั้งแต่ในระยะผลเขียว ผลพริกมักจะแห้งตรงบนต้น ไม่ค่อยร่วงหล่นไป แต่ถ้าเชื้อเข้าทำลายในระยะผลแดงผลพริกมักจะร่วงลงไป กลายเป็นการระบาดโรคอย่างต่อเนื่อง

การแพร่ระบาดของโรคแอนแทรคโนสในพริก
โรคนี้ปกติจะเกิดขึ้นเฉพาะกับผลพริกในกรณีที่ระบาดรุนแรงและสภาพแวดล้อมเหมาะสม อาจจะเข้าทำลายต้นและใบได้ โรคนี้ระบาดมากในฤดูฝนหรือในสภาพความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 95% และอุณหภูมิ 27-32 องศาเซลเซียล

ระยะย้ายกล้า
จะพบอาการของโรคทั้งใบและลำต้น ซึ่งถ้าต้นกล้าที่เป็นโรคอ่อนแอหรือตายไป ไม่สามารถทำเป็นต้นตอได้ เริ่มแรกจะเป็นจุดเล็กๆ บนใบอ่อน มองดูจะมีความใสกว่าเนื้อรอบๆ จุดนี้จะขยายออกเป็นวงขนาดต่างๆ ขึ้นอยู่กับความชื้นและความแก่ ความอ่อนของใบ โดยทำให้ใบแห้งทั้งใบหรือใบบิดเบี้ยวเมื่อแก่ขึ้น เพราะเนื้อที่ในบางส่วนถูกทำลายด้วยโรค ถ้าในสภาพอากาศอุณหภูมิความชื้นที่ไม่เหมาะสม แผลบนใบจะมีลักษณะเป็นจุดขนาดเล็ก กระจัดกระจายทั่วไปบริเวณกลางแผล ซึ่งมีสีน้ำตาลอ่อนกว่าแผล ซึ่งมีสีน้ำตาลอ่อนกว่าขอบแผลและมีลักษณะบางกว่าเนื้อใบ อาจจะฉีกขาดและหลุดออกเมื่อถูกน้ำ ทำให้แผลมีลักษณะเป็นรูคล้ายถูกยิงด้วยกระสุนปืน

อาการที่ลำต้นอ่อน
จะเป็นแผลที่ค่อนข้างดำ ลักษณะแผลเป็นรูปไข่ยาวไปตามความยาวของลำต้น อาการของโรครุนแรง แผลจะขยายอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งรอบลำต้นทำให้ต้นแห้งตาย แต่ถ้าต้นกล้าเป็นโรคในช่วงที่เนื้อเยื้อแก่แล้ว แผลที่อาจจะลุกลามไปได้ไม่มากนักจะเป็นจุดแผลมีลักษณะเป็นวงรีสีดำยุบตัวลงไปเล็กน้อย บริเวณกลางแผลจะเห็นเม็ดสีดำๆ หรือสีส้มปนบ้างเรียงเป็นวงอยู่ภายในแผล ถ้าโรคแอนแทรคโนสนี้เกิดกับยอดอ่อนก็จะทำให้ยอดแห้งเป็นสีน้ำตาลดำและอาจตายทั้งต้นได้เช่นเดียวกัน

ลักษณะอาการบนเมล็ดพริก
จะเป็นจุดสีดำรูปร่างกลมหรือรูขนาดตั้งแต่เท่าหัวเข็มหมุด จนถึงขนาดใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-4 ซม. แล้วแต่ความรุนแรง บริเวณแผลจะพบรายแตกและมีเม็ดเล็กๆ สีดำเรียงรายเป็นวงภายในแผลและลุกลามออกไป ทำฝห้ผลเน่าทั้งเม็ดได้ อาการจุดเน่าดำบนผลนี้พบทำความเสียหายกับพริกเกือบทุกสายพันธุ์ เชื้อราโรคแอนแทรกโนส ยังสามารถติดอยู่กับเม็ดพริก โดยไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อสภาพแวดล้อมภายหลังเหมาะสม เช่น ความชื้นสูงในระหว่างการเก็บรักษาหรือบรรจุหีบห่อเพื่อการขนส่ง ก็จะแสดงอาการได้ ซึ่งก็ทำความเสียหายเป็นอย่างมาก

การป้องกันกำจัด โรคแอนแทรคโนส
– ถ้าเก็บเมล็ดพันธุ์ ควรเก็บเมล็ดจากต้นที่ไม่เป็นโรคหรือถ้าซื้อเมล็ดพันธุ์มา ควรคลุกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช หรืออีกหนึ่งวิธีควรแช่เมล็ดในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20 นาที
– เมื่อพริกเริ่มติดผลควรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชเป็นระยะๆ ด้วยสารที่มีประสิทธิภาพ มีดังนี้ บาซิลซิส ซับทิลลิส, คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์+คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์, แมนโคเซบ, โพรพิเนบ, ไมโคลบิวทานิล, แคปแทน, โพรคลอราซ ฯลฯ เป็นต้น อัตราส่วนตามที่กำหนดไว้ ทุกๆ 5-15 วัน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค

โรคแอนแทรคโนส นี้ส่วนมากมักจะนึกถึงแต่การใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช ซึ่งสารป้องกันกำจัดโรคพืชหลายชนิดมีประสิทธิภาพต่อโรคนี้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง คือการป้องกันกำจัดไม่ได้ผลเท่าที่ควร จึงได้มีการวิเคราะห์หาสาเหตุและความเป็นไปได้ที่ทำให้โรคนี้ระบาดทำความเสียหายอย่างมากและสรุปเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเกิดจาก
– การดูแลรักษาความสะอาดในแปลงไม่ถูกต้อง เก็บเฉพาะผลผลิตที่ดีออกไปจำหน่าย ปล่อยให้ผลผลิตเป็นโรคทิ้งไว้กับต้นและร่วงหล่นอยู่ในแปลงปลูก เมื่อเกษตรกรพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช ไม่พ่นไปที่ผลพริกที่ร่วงหล่นอยู่ได้หรือนำไปทำลายทิ้ง ทำให้มีแหล่งกระจายเชื้อสาเหตุอยู่ตลอดเวลา
– เกษตรกรมีพฤติกรรมการใช้สารป้องกันกำจัดศัตรูพืชหลากหลายชนิดพร้อมทั้งปุ๋ยทางใบและปุ๋ยน้ำชีวภาพ ในบางครั้งรวมทั้งชาวสวนเรียกว่าฮอร์โมนพืชมีโอกาสที่จะทำให้ประสิทธิภาพของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชลดลง
ถ้าเกษตรกรผู้ปลูกพริกปรับพฤติกรรมเหล่านี้ให้หมดไป โอกาสที่ผลพริกจะเสียหายเนื่องจากโรคกุ้งแห้งของพริกจะลดลง โดยเฉพาะการดูแลรักษาความสะอาดในแปลงปลูก เก็บผลพริกที่เป็นโรคออกจากแปลงให้หมด ถ้าทำอย่างต่อเนื่องการระบาดของโรคจะลดลงและเมื่อใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอย่างถูกวิธี จะทำให้ความเสียหายจากโรคลดลง

แหล่งที่มาข้อมูล : Svgroup.co.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *